“หมอเพชรดาว” นำทีมกรมวิทย์ฯ บริการ กระทรวง อว. ยกระดับผ้าบาติก! เปิดอบรมเทคนิคเขียนเทียนด้วยปากกาจันติ้งไฟฟ้า ยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ เพิ่มรายได้สู่ ชายแดนใต้

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบหมายให้ตนมา เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคการเขียนเทียนบนผืนผ้าด้วยปากกาจันติ้งไฟฟ้าแบบพกพา” โดยมีนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ร่วมสนับสนุนและผลักดันโครงการนี้ พร้อมด้วยทีมวิทยากรจากสถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ มุ่งเสริมแกร่งผู้ประกอบการพื้นที่ชายแดนใต้จังหวัดปัตตานีและยะลาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 80 คน ณ โรงแรมซี เอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี


แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา กล่าวว่า กระทรวง อว. ภายใต้การนำของนางสาวศุภมาศ อิสรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้ความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบหมายให้ตนเป็นผู้ดูแลการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มการเข้าถึงองค์ความรู้ในระดับพื้นที่นั้น กิจกรรมอบรมครั้งนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสนับสนุนการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้

โดยที่กรมวิทย์ฯ บริการ กระทรวง อว. ได้มีการการพัฒนาปากกาเขียนเทียนกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมการเขียนผ้าบาติก โดยการศึกษาวิจัยและออกแบบปากกาจันติ้งไฟฟ้าแบบพกพา ที่ให้ความร้อนอย่างเหมาะสมสำหรับการหลอมละลายเทียน รวมถึงการพัฒนาวัสดุเทียนที่สามารถเขียนลงบนเนื้อผ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการนำองค์ความรู้ด้าน วทน. มาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ OTOP ให้สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาด และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล อันนำไปสู่การผลักดันอุตสาหกรรมหัตถกรรมไทยให้กลายเป็นหนึ่งใน ”ซอฟต์พาวเวอร์” ที่โดดเด่นของประเทศ
กระทรวง อว. มุ่งมั่นดำเนินภารกิจเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และผลักดันอุตสาหกรรมหัตถกรรมไทยให้เป็นหนึ่งใน “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและเอกลักษณ์ให้กับประเทศต่อไป