กองทัพอากาศแถลงข่าวครบรอบ 88 ปี

พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในงานแถลงข่าวครบรอบ 88 ปี กองทัพอากาศ โดยมีพลอากาศเอก เสกสรร คันธา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 88 ปี กองทัพอากาศ และพลอากาศเอก พิบูลย์ วรวรรณปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น. ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ
โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงาน ดังนึ้
1. เพื่อเป็นเกียรติประวัติที่แสดงถึงความภูมิใจในเกียรติภูมิของกองทัพอากาศ ครบรอบ 88 ปี และแสดงถึงขีดความสามารถของกองทัพอากาศในการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การใช้ขีดความสามารถในทุกด้านเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนแสดงถึงแผนการพัฒนากองทัพอากาศในอนาคต
2. เพื่อแสดงถึงความพร้อมของกองทัพอากาศในด้านการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการบินและภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล เพื่อส่งเสริมและกระชับความร่วมมือภายในประเทศ
3. เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพและความช่วยเหลือด้านความมั่นคงระหว่างกองทัพอากาศกับกองทัพอากาศมิตรประเทศ
กองทัพอากาศกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาสู่การเป็นกองทัพอากาศที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ UNBEATABLE AIR FORCE ซึ่งถูกขับเคลื่อนผ่านเกียรติยศและความภาคภูมิใจของกำลังพลกองทัพอากาศมาตลอดระยะเวลา 88 ปี ซึ่งเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นและความเสียสละ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
การจัดงานครบรอบ 88 ปี กองทัพอากาศ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด AIR SOVEREIGNTY THROUGH UNBEATABLE COLLABORATION หรือ ”อธิปไตยเหนือน่านฟ้า ผ่านความร่วมมืออันแข็งแกร่ง” ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของกองทัพอากาศในการปกป้องน่านฟ้า รักษาความมั่นคงของประเทศ และการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและชาติพันธมิตร
โดยกองทัพอากาศได้ออกแบบตราสัญลักษณ์ ”งานครบรอบ 88 ปี กองทัพอากาศ” เพื่อสื่อความหมายที่สำคัญ ดังนี้
- ข้อความภาษาอังกฤษ ”AIR SOVEREIGNTY THROUGH UNBEATABLE COLLABORATION” หมายถึง ”อธิปไตยเหนือน่านฟ้า ผ่านความร่วมมืออันแข็งแกร่ง”
- ภาพเลข 88 หมายถึงความยั่งยืนเจริญรุ่งเรืองของกองทัพอากาศ
- ภาพเครื่องบินภายในเลข 88 สื่อถึงการพัฒนากำลังทางอากาศของกองทัพอากาศ ที่เริ่มต้นจากเครื่องบินนิเออปอร์ต สู่เครื่องบิน Gripen ที่มีความล้ำสมัย
- ภาพเครื่องบินด้านข้างทั้ง 2 ด้าน สื่อถึงตัวแทนของเครื่องบินกองทัพอากาศมิตรประเทศที่เข้าร่วมแสดงการบิน
- ด้านล่างเป็นสัญลักษณ์ธงชาติของแต่ละประเทศที่ให้เกียรตินำเครื่องบินรบและระบบเครื่องช่วยฝึกบินจำลองร่วมแสดงในงาน ซึ่งแสดงถึงการครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต ได้แก่
ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและจีนครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและอินเดียครบรอบ 78 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและสหรัฐอเมริกาครบรอบ 192 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและสิงคโปร์ครบรอบ 60 ปี รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและสวีเดนครบรอบ 157 ปี
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงการบินภาคอากาศ การแสดงอากาศยานภาคพื้น งานเสวนาทางวิชาการและการจัดนิทรรศการ นอกจากการแสดงบินภาคอากาศโดยอากาศยานของกองทัพอากาศแล้ว นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานในรูปแบบ International Airshow ซึ่งได้รับเกียรติจากทีมบินผาดแผลงระดับโลก ได้แก่ ฝูงบิน August First จากกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน ฝูงบิน Suryakiran จากกองทัพอากาศสาธารณรัฐอินเดีย และการแสดงการบินของ F-35 Demo Team จากกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการจัดแสดงอากาศยานและระบบเครื่องช่วยฝึกบินจำลองหรือ Simulator จากกองทัพอากาศและกองทัพอากาศมิตรประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรสวีเดน และสหรัฐอเมริกา รวมจำนวนอากาศยานกว่า 28 แบบ รวม 29 เครื่อง
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการเสวนาทางวิชาการด้านปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพ เทคโนโลยีทางอวกาศ และความร่วมมือด้านงานวิจัยนวัตกรรมและภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมืออันแข็งแกร่งระหว่างกองทัพอากาศไทยและพันธมิตร ตลอดจนการแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์และการพัฒนาของกองทัพอากาศ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมการบินและการป้องกันประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอเทคโนโลยีนวัตกรรมและแนวทางพัฒนาขีดความสามารถด้านอวกาศและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งเพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการบินและของประเทศไทย
โดยในครั้งนี้ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) เป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับกองทัพอากาศ เป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศรวมทั้งบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ เพื่อสร้างงานให้เกิดขึ้นในประเทศ ล่าสุด TAI ได้นำการวิจัยอากาศยานไร้คนขับของ “โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช” มาสู่สายการผลิต เพื่อส่งมอบให้กับกองทัพอากาศใช้ในการปฏิบัติภารกิจลาดตระเวน ในอนาคต TAI ร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ หรือ ศวอ.ทอ. ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศรวมทั้งต่างประเทศ ในการนำงานวิจัยที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศสู่สายการผลิต โดยกำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2568 ณ กองบิน 6 ดอนเมือง ซึ่งผู้ที่สนใจร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ทั้ง 2 วัน โดยสแกนเพื่อกรอกข้อมูลยืนยันตัวตนสำหรับการเข้าพื้นที่การจัดงานตามมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยด้านในจะมีข้อมูลกำหนดการแผนที่การจัดงานและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กองทัพอากาศมีความมุ่งหวังว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นเวทีแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นพัฒนากองทัพอากาศ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงและภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตลอดจนความร่วมมือในระดับสากลกับมิตรประเทศ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถจุดประกายให้ภาคสังคมเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพด้านการบินอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล อันจะนำไปสู่เสถียรภาพด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน กองทัพอากาศจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมงานในครั้งนี้ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวข้างต้น