อว. ร่วม สํานักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดประชุมวิชาการ “Thailand-China Policy Forum“ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน

วันที่ 19 มิถุนายน 2568 ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากูล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรม และการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาประเทศ” ในการประชุมวิชาการ ”Thailand-China Policy Forum: Advancing
Cooperation towards Common Prosperity in a Changing Geopolitical Landscape” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo 2025) จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากูล กล่าวว่า การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญและเป็นหัวใจหลักที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวง อว. ที่มุ่งเป้าพลิกโฉมประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและมิตรประเทศที่สำคัญอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดในรอบด้าน และตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการการเคารพซึ่งกันและกัน และความไว้เนื้อเชื่อใจ ในบริบทความร่วมมือไทย-จีน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้วางรากฐานความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติ โดยมีรูปแบบการดำเนินงานความร่วมมือทางการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญและมีการกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกัน อาทิ การแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมในด้านปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีสีเขียว การจัดประชุมฝึกอบรม สำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ การพัฒนา platform ศูนย์นวัตกรรมจีน-ไทย-อาเซียน เพื่อขยายความร่วมมือสู่อาเซียน ตลอดจน การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน สอดคล้องกับการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ได้เสนอข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative GDI) ที่เน้นย้ำถึงการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และภายใต้ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative BRI) การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นหนึ่งในความร่วมมือที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยการใช้การวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับเข้าสู่กิจกรรมในวาระ ครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมคู่ขนาน ภายใต้งาน Thailand Research Expo 2025 ตั้งแต่วันที่ 17 และ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในรูปแบบของการประชุมวิชาการ การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในประเด็นสำคัญ อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐกิจ พลังงาน ปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการจากไทย-จีน โดยในวันนี้ ได้กำหนดจัดการประชุมวิชาการ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “Thailand-China Policy Forum: Advancing Cooperation towards Common Prosperity in a Changing Geopolitical Landscape” เป็นการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีมาอย่างยาวนานและแนบแน่น โดยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างไทย-จีนในอนาคต ทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองประเทศที่มีประวัติศาสตร์ และวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศ ในการสร้างเชื่อมั่นและความไว้วางใจในทุกระดับ

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา โดยแบ่งเป็น 2 หัวข้อดังนี้
การเสวนาหัวข้อที่ 1 : ไทย - จีน ร่วมสร้างการเติบโตไปด้วยกัน (Co-Creating Growth:
The Thailand–China Economic Vision) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจําคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Executive Director ASEAN Foundation รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจําคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และดำเนินรายการ โดย คุณฑิฟฟาณี เชน ห้องปฏิบัติการนโยบาย (Thailand Policy Lab)
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (UNDP)
การเสวนาหัวข้อที่ 2 ไทย – จีน ร่วมขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่ออนาคต (Shaping Tomorrow:
Thailand–China Tech Cooperation) โดย รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นายสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และดำเนินรายการ โดย ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
