เมื่อ : 11 ธ.ค. 2567

วันที่ 11 ธันวาคม 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามนโยบายท่านรัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ให้กรมวิทย์ฯ บริการ เป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure (NQI)) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมูลค่าการส่งออกของประเทศ และให้กรมวิทย์ฯ บริการ ทำหน้าที่สำคัญในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชน รวมถึงการเป็นหน่วยรับรองคุณภาพมาตรฐานของห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ  

นพ.รุ่งเรือง อธิบดีกรมวิทย์ฯ บริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า เช้าวันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  เพื่อยกเลิก มาตรา 38 ที่กำหนดให้เปลี่ยนสถานภาพกรมวิทย์ฯ บริการ จากส่วนราชการไปเป็นองค์การมหาชน ซึ่งการยกเลิกมาตราดังกล่าว จะทำให้กรมวิทย์ฯ บริการ ยังคงสภาพความเป็นส่วนราชการในกระทรวง อว. ต่อไป เนื่องจากประเทศยังจำเป็นต้องมีส่วนราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแล และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ เป็นหน่วยให้การรับรองกำกับติดตามห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ และทำหน้าที่วิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน กรมวิทย์ฯ บริการมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจตามนโยบายรัฐบาลและท่านรัฐมนตรีศุภมาส ในการทำงานเน้นตอบโจทย์ ตรงความต้องการประเทศชาติและประชาชน เพื่อความมั่นคงของชีวิต เศรษฐกิจ และการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่เป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ 


นพ.รุ่งเรือง อธิบดีกรมวิทย์ฯ บริการ กล่าวว่า ในนามบุคลากรกรมวิทย์ฯ บริการ ทุกคน ขอกราบขอบคุณคณะรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีศุภมาส ที่ให้การสนับสนุนและเห็นถึงความสำคัญของภารกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการดูแลประชาชน ของกรมวิทย์ฯ บริการ และเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีส่วนราชการทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล และกระทรวง อว. ที่สามารถดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน  หน่วยงานภาคประชาสังคม หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมวิทย์ฯ บริการ ได้พัฒนาปฏิรูประบบราชการ เช่น การปรับโครงสร้างภายในให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับภารกิจ จัดระเบียบองค์กรใหม่เป็น 10 สถาบัน เช่น สถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ  สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน สถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันพัฒนานักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น และสำนักวิทยาศาสตร์บริการเขต 12 เขต ครอบคลุมการดูแลในพื้นที่ทั่วประเทศ ยกระดับสู่ห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติด้วยระบบ AI ขยายเครือข่ายห้องปฏิบัติการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  กรมวิทย์ฯ บริการ มีความมุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมไทยในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่จำกัดเพียงแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการวางรากฐานองค์ความรู้ การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรในท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชุมชนระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ โดยตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา กรมวิทย์ฯ บริการ มีผลงานที่โดดเด่นอย่างมากทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สามารถขับเคลื่อนผลงานด้านห้องปฏิบัติการจนได้อันดับที่ 5 ของโลกได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับเหรียญทองในระดับนานาชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น การนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนเป็นอย่างดีด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และอาศัยกลไกสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลที่มีปัญหาน้ำดื่ม น้ำใช้ไม่ได้คุณภาพและไม่ปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและเด็ก ๆ ให้มีน้ำดื่มที่สะอาดมีคุณภาพและปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่ม และได้ตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปี ทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดและปลอดภัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล  รวมไปถึงนำวิทยาศาสตร์ไปสู่การแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ  เข้าร่วมศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม “อว. เพื่อประชาชน” เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและรับมืออุทกภัย เพื่อความปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยง ได้ยกระดับการทำงานโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาภารกิจหน่วยปฏิบัติการ “ผู้พันวิทย์ อว.” ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่ตรวจสอบค้นหาความจริง เก็บตัวอย่าง พิสูจน์หลักฐาน และตอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศให้เกิดการแก้ไขปัญหาของประชาชน ทั้งในด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ ให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม    นอกจากนี้ได้ประสานงานกับห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทำหน้าที่ “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม” ในทุกจังหวัดของประเทศ เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อว. รวมถึงการจัดตั้ง “ศูนย์บริการให้คำปรึกษา อว. อย. และ สมอ.” ทั่วประเทศ ซึ่งเสมือนว่าประชาชนได้มาติดต่อ ที่ อย. และ สมอ. ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับชุมชน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาให้ต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกต่างประเทศจากระดับพื้นที่ 

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำการนำประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับภูมิภาค ได้จัดตั้ง “สถาบันนวัตกรรมหุ่นยนต์และยานยนต์ไร้คนขับ” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้ลงทุนสร้างสนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV Proving Ground) และเครื่องมือทดสอบที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท เป็นสนามทดสอบระบบอัตโนมัติระดับ SAE AV Level 3-5 รองรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ เสริมความปลอดภัย และการวิจัยพัฒนาทั้งหุ่นยนต์และยานยนต์ไร้คนขับ ขณะนี้กำลังขยายการลงทุนด้านอุปกรณ์การเชื่อมต่อ 5G Private Network เพื่อการทดสอบด้าน Connectivity อย่างเต็มรูปแบบ ที่สามารถจำลองสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมการเชื่อมต่อในทุกรูปแบบ ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการทดสอบยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติจากต่างประเทศก่อนที่จะสามารถนำรถมาทดสอบบนถนนจริงของประเทศไทย รวมไปถึงการศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติขั้นสูงในประเทศไทย และเป็นกลไกสำคัญในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ด้วยระบบยานยนต์อัตโนมัติ 

กรมวิทย์ฯ บริการ ก่อตั้งมาเป็นเวลา 133 ปีและมีหน่วยงานต่างๆแตกออกไปเป็นองค์กรต่างๆทั้งรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการ และองค์การมหาชนเป็นจำนวนมากมาย ในฐานะส่วนราชการ กระทรวง อว. ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายในการยกระดับศักยภาพของประเทศด้วยระบบ NQI สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นส่วนสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน